Google Webmaster Conference Bangkok 2019

ว่าด้วยเรื่อง SEO ต้องรู้ จากงาน Google Webmaster Conference Bangkok 2019 (EP.1)

ครั้งนี้ขอแตะมือ ผลัดเปลี่ยนกับแอดมินแอม เป็นแอดมินซัน พาไปงาน Google Webmaster Conference Bangkok 2019 หรือชื่อย่อ WMCBKK ประจำปี 2019 ธีมหลักของงานนี้ คือ การอัปเดตเทรนด์เว็บไซต์ต่าง ๆ ในเชิง Search / SEO ในปี 2019 จากทีม Google Search ของ Google โดยตรง และเป็นการรวมตัวของเหล่า ผู้ดูแลเว็บไซต์ (webmaster) ให้มาพบปะพูดคุยกัน

ซึ่งครั้งนี้ เป็นครั้งแรก ที่งาน Google Webmaster Conference มาจัดที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยของเราด้วย (สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ เมื่อ 29 ตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา) ในเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เราต้องได้ไป เพื่อจะได้มีอะไรมาแชร์กัน!

Google Webmaster Conference Bangkok 2019
Webmaster Conference Bangkok ครั้งแรกในกรุงเทพฯ! Webmaster Conference Bangkok 2019

รีวิวบรรยากาศภายในงาน

ด้วยความที่งาน Google Webmaster Conference Bangkok 2019 มาจัดที่ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 โครงการสามย่านมิตรทาวน์ แอดมินและคุณเมย์เลยต้องเตรียมตัวมางานแต่เช้าหน่อย (เผื่อหลง 55) เลยทำให้มีเวลาถ่ายรูปบรรยากาศงานมาเยอะสักหน่อย

เราจะเห็นน้อง Google Bot ออกมาต้อนรับผู้เข้าร่วมงานที่กำลังรอลงทะเบียนอยู่ แอดมินเลยขอแชะภาพมาฝากกันสักหน่อย

พอช่วงใกล้เวลางานคนเริ่มเดินทางมาเยอะขึ้นเรื่อย ๆ จากที่พวกเราคาดการณ์ด้วยสายตา น่าจะเกือบร้อยกว่าคนได้ จะมีทั้ง คนที่ลงทะเบียนผ่านหน้าเว็บไซต์และได้รับอีเมลตอบกลับแล้ว กับคนที่มารอหน้างานเผื่อว่าใครสละสิทธิ์กลางทาง

หลังจากลงทะเบียนที่หน้าเคาท์เตอร์เรียบร้อยแล้ว เราจะได้รับป้ายชื่อและสายคล้องคอแต่ละคน และของชำร่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ จากทาง Google แอดมินชอบในความใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งสร้างความประทับใจ และสร้างกิมมิคให้กับงานไปในตัวไม่น้อยเลย

จริงๆ ไม่ได้มีแค่ตัวของชำร่วย อย่างถุงผ้า หรือป้ายคล้องคอ ภายในห้องประชุมที่จัดงาน ทาง Google เองก็ยังมีบูธกิจกรรมให้เข้าไปร่วมเล่น ร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระทึก (ระลึก ฮ่า ๆ) อีกด้วย

เอาล่ะ หมด section การรีวิวภาพบรรยากาศภายในงาน Google Webmaster Conference Bangkok 2019 ไปเรียบร้อยแล้ว ลงรูปแค่พอหอมปากหอมคอ เผื่อครั้งหน้าหากมีการจัดงานอีก พวกเราอาจจะได้เจอกันก็ได้ 🙂

ใน section ถัดไป เราจะมาดูเรื่องน่าสนใจที่คนมีเว็บ เว็บมาสเตอร์ นักการตลาดสายการทำ Serch / SEO จำเป็นต้องรู้ จากทีม Google Search มาให้ได้อ่านกัน

Back to the basic : หลักการทำงาน 3 อย่าง

ขึ้นชื่อว่า การค้นหา(Search) ก็ต้องเกี่ยวข้องกับ ข้อมูล(Data) เป็นหลัก ซึ่งในส่วนนี้ คุณ Cherry – Sireetorn Prommawin ในตำแหน่ง Senior Search Quality Analyst ได้อธิบายไว้ว่า หลักการทำงานของ Google Search แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ด้วยกัน คือ

  1. การเก็บข้อมูล (Crawling)
  2. การจัดทำดัชนีข้อมูล (Indexing)
  3. การจัดอันดับข้อมูล (Ranking)
Google Webmaster Conference Bangkok 2019
คุณ Cherry – Sireetorn Prommawin : Senior Search Quality Analyst ได้อธิบาย หลักการทำงานของ Google Search แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การเก็บข้อมูล (Crawling), การจัดทำดัชนีข้อมูล (Indexing) และ การจัดอันดับข้อมูล (Ranking)

ขั้นแรก Google bot จะเข้า เก็บข้อมูล (Crawling) จากที่เว็บไซต์ต่าง ๆ (ในปัจจุบันมีกว่า 130,000,000,000,000 หน้า ) ที่อนุญาตให้ Google bot เข้าไปเก็บข้อมูลได้ ไม่ว่าจะ ลิงก์ ข้อความ URL เว็บเพจ เว็บไซต์ เป็นต้น เพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านี้มา การจัดทำดัชนีข้อมูล (Indexing) และ การจัดอันดับข้อมูล (Ranking) ตามลำดับ

เมทาดาตา (Metadata) ช่วยให้ Google เข้าใจเว็บไซต์เรามากขึ้น

Google ได้นำเอา เมทาดาตา (Metadata) ในเชิงโครงสร้าง (Structural Metadata) มาช่วยให้ Google bot สามารถเข้าใจ เว็บไซต์ของเราได้ดียิ่งขึ้น และเอียดมากขึ้น

เมทาดาตา (Metadata) ในเชิงสารสนเทศศาสตร์ คือ ข้อมูลที่ใช้สำหรับอธิบายรายละเอียดของข้อมูลอื่น เปรียบเปรยคล้าย พจนานุกรม ที่มีคำอธิบายคำศัพท์อีกครั้งหนึ่ง

Google Webmaster Conference Bangkok 2019
การใช้ เมทาดาตา (Metadata) ของ Google ในหน้า Google Search

จากในภาพนี้จะเห็นว่า การใช้ เมทาดาตา (Metadata) ที่ถูกต้อง เข้าใจง่าย และอธิบายเว็บไซต์ของเราได้ถูกต้อง การแสดงผลเว็บไซต์ของเราในหน้าค้นหา (Search appearance) ก็จะดูน่าเชื่อถือตามไปด้วย

แล้วถ้าเราไม่ได้ใส่ล่ะ? ถ้าหากเราไม่ใส่เมทาดาตาในเว็บไซต์เลย ปล่อยเลยตามเลย Google ก็จะแสดงผลการค้นหาเว็บไซต์ของเรา ในแบบเลยตามเลยเช่นเดียวกันกับภาพข้างล่าง

Google Webmaster Conference Bangkok 2019
ผลของการไม่ใส่ เมทาดาตา (Metadata) ในเว็บไซต์ เช่น title, description

โฟกัสที่การทำเว็บไซต์ อย่าสนใจเรื่องอัลกอริทึมให้มากนัก

ใช่ฮะ ได้ยินถูกต้องแล้ว นี่คือสิ่งที่ คุณ Gary Illyes : Webmaster Trend Analyst ได้บอกเอาไว้ในช่วงการอัปเดตเรื่องอัลกอริทึมของ Google ไว้ว่า

นั่นคือ ให้เราอย่าไปซีเรียส เรื่องของอัลกอริทึมให้มันมากเกินไปนัก (ไม่ได้หมายความว่าไม่ใส่ใจเลย) แต่ให้เราตั้งหน้าตั้งตาทำเว็บไซต์ของเรา(ให้ดี) ต่อไปจะดีกว่า นั้นเพราะ ข้อมูล(data) คือ สิ่งที่ Google แสวงหามากที่สุด

ส่วนเรื่องอัลกอริทึมของ Google ก็จะหนีไม่พ้นเรื่องของ

  • ลิงก์(Links) เช่น การลิงก์ไปที่เว็บไซต์อื่นบ้าง, การใช้ nofollow กับลิงก์ที่ไม่ต้องการให้ Google ไปวุ่นวายในการจัดอันดับ หรือการใช้ Canonical URL เพื่อช่วยลดความสับสนให้กับ Google bot เป็นต้น
  • ความเร็วของเว็บไซต์(Speed) เช่น การปรับเว็บไซต์ให้เร็วขึ้น เพราะว่าเร็ว เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลต่อการซื้อบนเว็บไซต์ด้วยเช่นกัน เป็นต้น
  • การใช้ไฟล์ Robot.txt ในการเรียก Google bot
  • เนื้อหาบนเว็บไซต์ (Content) ควรใส่ใจในการทำให้มาก ไม่ควรคัดลอกจากเว็บไซต์อื่น

อัลกอริทึมส่วนใหญ่ จะเป็นการทำงานพื้นฐานของอัลกอริทึมอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ Mobile First Indexing !

Mobile First Indexing – เริ่มทำดัชนี(Indexing) จากรูปแบบเว็บไซต์บนโทรศัพท์มือถือก่อน

หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า การทำดัชนี (indexing) ของเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยเเฉพาะเว็บไซต์ใหม่ จะเริ่มทำดัชนีจาก เว็บไซต์ในรูปแบบเว็บไซต์บนโทรศัพท์มือถือก่อน (Mobile First Indexing)

Google ไม่ได้จัดอันดับ (Ranking) หรือแสดงผลเว็บไซต์ (Render) ไว้ล่วงหน้า

สำหรับใครที่กำลังคิดว่า Google มีการจัดอันดับล่วงหน้าไว้แล้ว หรือมีข้อมูลการแสดงผลเว็บไซต์ ตั้งแต่ขั้นการเก็บข้อมูล (Crawling) คุณคิดผิดนะครับ! แต่เกิด ณ เวลาที่คุณเริ่มค้นหาเว็บไซต์ต่างหาก! เหมือนกับเว็บบราวเซอร์ที่แสดงผลเว็บไซต์ ณ เวลาที่ค้นหานั่นแหละ

Google Webmaster Conference Bangkok 2019
Google ไม่ได้จัดอันดับ(Ranking) หรือแสดงผลเว็บไซต์(Render) ไว้ล่วงหน้า แต่เกิด ณ เวลาที่คุณเริ่มเสิร์ชเว็บไซต์

Google Search Console จะมีฟีเจอร์เยอะขึ้น และแสดงผลแบบ responsive ได้

Google Search Console เป็นเครื่องมือสำคัญที่ต้องรู้จัก โดยเฉพาะคนที่เป็นเว็บมาสเตอร์ ซึ่งใน เวอร์ชั่นใหม่จะมีฟีเจอร์ที่เยอะขึ้น และสามารถแสดงผลแบบ responsive ได้ด้วย เช่น การดูข้อมูลย้อนหลัง 16 เดือน เป็นต้น

Google Search Console ในปัจจุบัน เราสามารถ ยืนยันตัวตนโดยใช้ โดเมน(Domain) ไปที่ Google Search Console ได้เลย ซึ่งวิธีนี้จะครอบคลุมทั้งเว็บไซต์มากกว่า และลดความวุ่นวายในการส่ง แผนผังเว็บไซต์(Sitemap) แยกกันอีกต่อไป

แผงความรู้ (Knowledge Panel) ฟีเจอร์ที่คุณก็มีได้

Knowledge Panel เราขอเรียกว่า แผงความรู้ แล้วกันนะฮะ หลายคนน่าจะเคยเห็นเวลาค้นหาเว็บไซต์ เพลง วิดีโอ แล้วจะมีแผงนึงที่เราสามารถคลิ๊กเข้าไปดูรายละเอียดได้เลย โดยที่ยังไม่ทันได้ไปที่เว็บไซต์ เจ้านี่ล่ะครับที่เรียกว่า Knowledge Panel

แต่ที่น่าสนใจของ Knowledge panel ที่คุณ Swit Tei : Partner Technology Manager, Search & News บอกไว้ นั่นคือ ถ้าเนื้อหาที่แสดงขึ้นมา ถ้าเป็นเนื้อหาของเราจริง เราสามารถที่จะ เคลม(claim) Knowledge Panel นั้น ๆ เป็นของแบรนด์ บริษัท หรือเว็บไซต์ของเราได้ แน่นอนว่าก็ต้องมีการยืนยันตัวตน ยืนยันความถูกต้องกันอีกครั้งหนึ่ง

Knowledge Panel ยังสามารถใช้งานได้อีกหลายรูปแบบ เช่น แบบสตอร์รี่(Story) แบบกิจกรรม(Event) หรือแม้แต่แบบสำรวจ(Polls) ก็สามารถทำได้

Google Webmaster Conference Bangkok 2019
รูปแบบการทำงานของ แผงความรู้ (Knowledge Panel) บน Google Search

หรือแม้แต่การใช้ คามีโอ (cameos) แอปพลิเคชันถามตอบด้วยคลิปวิดีโอของ Google ก็สามารถใช้ร่วมกับ Knowledge Panel ได้ด้วยเหมือนกัน

Google Webmaster Conference Bangkok 2019
การใช้ คามีโอ(cameos) ร่วมกับ Knowledge Panel

คอนเทนต์ 3 ประเภท ที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเว็บไซต์ได้

คุณ Swit Tei : Partner Technology Manager, Search & News ได้แนะนำว่า ในปัจจุบันทาง Google ได้แบ่งคอนเทนต์ในเชิงการให้ข้อมูล ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • คอนเทนต์เกี่ยวกับ วิธีการ-วิธีทำ (How to)
  • คอนเทนต์เกี่ยวกับ คำถามที่พบบ่อย (FAQ)
  • คอนเทนต์เกี่ยวกับ การถามตอบ (Q&A)
Google Webmaster Conference Bangkok 2019
คอนเทนต์ในเชิงการให้ข้อมูล ออกเป็น 3 ประเภท

หากคอนเทนต์ในเว็บไซต์ของเรา เป็นหนึ่งใน 3 ประเภทนี้ เราสามารถใช้ เมทาดาตา(Metadata) หรือใช้ ข้อมูลที่มีโครงสร้าง(Structure Data) เข้ามาอธิบายคอนเทนต์ของเรา เพื่อให้ Google bot เก็บข้อมูลและนำไปแสดงผลในหน้าการค้นหา อย่างในภาพด้านล่าง

ถ้าใครไม่แน่ใจว่าเมทาดาตาที่เราใส่ไปนั้นถูกต้องหรือไม่ เราสามารถตรวจสอบคอนเทนต์นั้นได้ โดยใช้ เครื่องมือทดสอบข้อมูลที่มีโครงสร้าง (Google Structure Data Testing tools) เพื่อใช้ทดสอบว่าคอนเทนต์ของเรามีการใช้ เมทาดาตา(Metadata) อธิบายเว็บไซต์ไว้แบบไหน อย่างไรบ้าง เป็นต้น

Google Webmaster Conference Bangkok 2019
เครื่องมือทดสอบข้อมูลที่มีโครงสร้าง(Google Structure Data Testing tools)

ข้อมูลที่มีโครงสร้าง (Structure Data) ไม่จำกัดแค่ที่คอนเทนต์ตัวอักษร

วิดีโอ(Video) เป็นคอนเทนต์อีกหนึ่งประเภทที่สามารถใช้ เมทาดาตา (Metadata) หรือใช้ ข้อมูลที่มีโครงสร้าง(Structure Data) เข้ามาช่วยอธิบายได้เหมือนกัน และจะทำให้การค้นหาบน Google Searh เป็นไปได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น เข้าถึงได้มากยิ่งขึ้นไปด้วย

ในปัจจุบันทาง Google ได้มีการแสดงผลคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ ให้แสดงผลใน Google Seach ผ่านการใช้ เมทาดาตา (Metadata) หรือใช้ ข้อมูลที่มีโครงสร้าง (Structure Data) มาอธิบายเช่น การใช้ ในการอธิบาย เป็นต้น

Google Webmaster Conference Bangkok 2019
การใช้ เมทาดาตา(Metadata) หรือใช้ ข้อมูลที่มีโครงสร้าง(Structure Data) อธิบายวิดีโอ(Video)

และในอนาคต(อันไกล้นี้) ทาง Google จะปล่อยการแสดงผลในหน้า Google Search สำหรับวิดีโอแบบใหม่ อีก 2 อย่าง Live Stream Event และ How-to Video มาให้ลองใช้งานกัน ในระหว่างนี้ก็รอกันไปก่อนนะฮะ (ฮ่าๆ)

มาตามต่อในคอนเทนต์หน้า

สำหรับงาน Google Webmaster Conference Bangkok 2019 หรือชื่อย่อ WMCBKK ประจำปี 2019 ยังมีเนื้อหาอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ 12 เรื่องที่มักเข้าใจผิดตลอดใน Google Search ซึ่งจะมาพูดถึงการถามตอบจาก 12 หัวข้อ ที่เราเชื่อว่า แม้แต่คุณเอง ก็ยังเข้าใจผิดกันอยู่ (พวกเราด้วยเหมือนกัน ฮ่า ๆ) ติดตามต่อในคอนเทนต์หน้า เร็ว ๆ นี้นะครับ

สำหรับใครที่ไม่อยากพลาดคอนเทนต์จากพวกเรา เราแนะนำให้ Subscribe รับข่าวสารจากพวกเราในแบบฟอร์มด้านล่างนี้ เรายังคงยืนยันว่า ข้อมูลของคุณจะถูกเก็บเป็นความลับภายใต้นโยบายความเป็นส่วนตัวของเว็บไซต์เรา และจะไม่มีการส่งอีเมลเข้าไปกวนใจคุณแน่นอน 🙂

Scroll to Top